วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มนุษยสัมพันธ์ ในการทำงาน Human Relations at Work

มนุษยสัมพันธ์ ในการทำงาน 
มนุษยสัมพันธ์เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยพฤติกรรมของบุคคลที่มาเกี่ยวข้องกันในการทำงานในองค์กรหรือหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานดำเนินไปได้อย่างราบรื่นความสำคัญ ของมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานก็คือ สร้างความราบรื่นในการทำงานร่วมกันสร้างความเข้าใจอันดีและความสามัคคี ก่อให้เกิดความรักใคร่และความสำเร็จในการทำงานร่วมกันเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและเป็นเครื่องมือช่วยในการแก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้ง
     
         หลักของมนุษยสัมพันธ์ คือ การตอบสนองความต้องการของมนุษย์ โดยใช้หลักปฏิบัติที่ว่าเมื่อเราต้องการสิ่งใด ผู้อื่นก็มีความต้องการสิ่งนั้นเช่นกันส่วนในด้านจิตใจ
ก็ให้ยึดหลักที่ว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา  โดยมนุษยสัมพันธ์นั้นเกี่ยวข้องศาสตร์สาขาต่างๆ
เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์ จิตวิทยาจิตวิเคราะห์ และความแตกต่างระหว่างบุคคล
(ทิพ นิลนพคุณ.2555)
ภาพที่ ๑ มนุษยสัมพันธ์ สร้างความสุข
ที่มา (ศิริใจ สุขใจ, ๒๕๕๖)

การสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน
มีข้อที่ควรปฏิบัติคือ

         - การสร้างมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน การสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
กับบุคคลในองค์กร มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับ
เพื่อนร่วมงาน การเอาใจใส่เพื่อนร่วมงาน  การปรับตัวเองให้เข้าได้กับเพื่อนร่วมงาน
         - การควบคุมพฤติกรรมและเจตนารมณ์ผู้อื่น เมื่อต้องการสร้างสัมพันธภาพที่ดี
กับเพื่อนร่วมงานมีสิ่งที่ควรต้องปฏิบัติคือ การสร้างความประทับใจ
ให้กับเพื่อนร่วมงาน  การสร้างความเป็นมิตร มองหาส่วนดีและยอมรับความสามารถ
ของเพื่อน
         - วิธีการสร้างเสน่ห์ในบุคลิกภาพ การเป็นคนมีเสน่ห์จะช่วยให้บุคคลที่อยู่
รอบข้างอยากเข้ามาชิดใกล้ และปรารถนาจะร่วมงานด้วย การสร้างเสน่ห์สามารถ
ทำได้โดย การใช้น้ำเสียงหรือคำพูด การแสดงออกทางร่างกาย การใช้ภาษากาย
ที่เหมาะสม การพัฒนาบุคลิกภาพให้สง่างาม การแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
- การสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา การปฏิบัติงานในองค์กรผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาจำเป็นต้องการการสื่อสารเพื่อร่วมกันดำเนินงานให้บรรลุภารกิจขององค์กร 
- หลักปฏิบัติในการเป็นผู้ช่วยที่ดี การปฏิบัติตัวเป็นผู้ช่วยที่ดีนั้น
จะใช้หลัก 3 ประสานก็คือ มือดี ใจดี ความคิดดีซึ่งมือดีก็คือมีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ บุคลิกภาพและลักษณะท่าทางดีใจดีก็คือมีความมั่นคงทางจิตใจ
มีความรับผิดชอบ เอาใจใส่ในงาน มีความขยันหมั่นเพียรและอดทนส่วนคิดดีก็คือ
มีความคิดริเริ่ม มีความเป็นผู้นำ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รู้จักกาลเทศะ รู้จักช่องทางในการติดต่อสื่อสารและเป็นผู้รู้จักประมาณตน
(ทิพ นิลนพคุณ.2555)

หลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์ 10 ข้อพอสรุปได้ดังนี้ คือ
       1. บุคคลย่อมมีความแตกต่างกัน 
       บุคคลโดยทั่วไปนั้นถ้าพิจารณาอย่างผิวเผินแล้วจะเห็นว่าเหมือนๆกัน
แต่แท้จริงแล้วบุคคลแต่ละคนมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว (Uniqueness)   
แต่ละคนย่อมแตกต่างไปจากบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม 
สติปัญญา อารมณ์ เจตคติ ค่านิยม อุดมคติ วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ 
นิสัยใจคอ วินัยจรรยา การศึกษาที่มีมาตลอดชีวิต หรือกระบวนการเรียนรู้
ทางสังคม
         2. การพิจารณาศึกษาบุคคลต้องดูทั้งหมดในฐานะที่บุคคลนั้น
เป็นบุคคลคนหนึ่ง 
          ในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลหนึ่งบุคคลใดนั้น เราต้องพึงระลึก
เสมอว่า เราได้เข้ามามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นทั้งคน เรามิได้เลือก
ติดต่อสัมพันธ์กับเรื่องหนึ่งเรื่องใด            
           3. พฤติกรรมของบุคคลแต่ละคนต้องมีสาเหตุ 
           บุคคลอาจได้รับการจูงใจเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงสาเหตุของพฤติกรรม อันได้แก่เรื่องความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจของบุคคล การที่บุคคลจะได้รับการจูงใจให้ทำงานเขาจะต้องสร้างพฤติกรรมขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของเขาด้วยความคิดของเขาเอง มิใช่สร้างพฤติกรรม
ตามความคิดของผู้อื่น 
           4. บุคคลทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เสมอกัน
         เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางปรัชญามากกว่าเรื่องทางวิทยาศาสตร์ มนุษย์นับเป็นสัตว์ประเสริฐที่มีความคิด มีสมอง  มีความรู้ผิดชอบชั่วดี มีวัฒนธรรม 
มีสามัญสำนึก เป็นสิ่งที่อยู่เหนือสรรพสัตว์ทั้งหลายดังนั้นการติดต่อสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน จึงต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ และตระหนักในศักดิ์ศรีของความ
เป็นมนุษย์ของเขา ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร มีสถานภาพหรือฐานะอย่างไร
เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา 
           5. มนุษย์ทุกคนมีแรงจูงใจ 
           ต้องจูงใจผู้อื่นให้มีเจตคติตรงกัน มีจุดหมายร่วมกัน เพื่อจุดประสงค์
ในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการจูงใจตนเองให้มีระเบียบ
และความรับผิดชอบเรื่องต่างๆ 
          6. บุคคลต้องการที่จะติดต่อสื่อสาร 
           ได้แก่ การศึกษาวิธีการติดต่อสื่อสารเพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดี
ในกลุ่ม ให้กลุ่มได้มีความเห็นสอดคล้องกัน และมีความเข้าในตรงกันการสื่อสาร
เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในองค์การ             
         7. บุคคลมีความรับผิดชอบ 
         พื้นฐานความรับผิดชอบในงานองค์การก็คือ การทำให้งานสำเร็จโดยความพยายามร่วมกันของผู้ร่วมงาน
         8. บุคคลต้องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา
          คือ ความสามารถที่จะทำตัวของเขาให้รู้สึกเหมือนอยู่ในสภาพของผู้อื่น
และรู้สึกเห็นใจต่อทัศนะการจูงใจของคน การขาดการเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นสาเหตุแรกของการขัดแย้งในองค์การ การเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นคุณสมบัติสำคัญของ
ผู้ไกล่เกลี่ยความแตกร้าวของการขัดแย้งกันทางแรงงาน การรู้จักเอาใจเขา
มาใส่ใจเรา ต้องศึกษาความแตกต่างของแต่ละบุคคลและตระหนักถึงปัญหา
ของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน
          9. บุคคลต้องการผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน 
          หมายถึง ผลประโยชน์ของคนที่ทำงานในองค์การ กับผลประโยชน์ของ
องค์การนั้นๆ ซึ่งการที่คนจะเข้าไปทำงานในองค์การใดหรือการที่องค์การใด
จะรับคนเข้าไปทำงานนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกหรือความเชื่อว่าตนจะได้ประโยชน์
จากอีกฝ่ายหนึ่ง
      10. บุคคลต้องการพัฒนาศักยภาพของตนให้ถึงขีดสุด
       ได้แก่ การศึกษาพัฒนาตนเองตามศักยภาพให้ดีที่สุดทั้งทางร่างกาย จิตใจ 
และบุคลิกภาพ เพื่อให้ตนเป็นสมาชิกที่มีประสิทธิภาพของสังคมและเป็นประโยชน์
ต่อผู้อื่น และสังคมโดยส่วนร่วม รวมทั้งการดำรงชีวิตอย่างสันติสุขของตนเอง
                                
การวัดความชอบพอระหว่างบุคคลสามารถถามได้หลายวิธีเช่น
            1. ถามความรู้สึก การถามที่ง่ายที่สุดและถามตรงไปตรงมาที่สุดให้ผู้ตอบเลือกตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่งซึ่งตรงกับความรู้สึกของตนเองที่มีต่ออีกคนหนึ่ง ดังนี้
                 ..............ฉันรู้สึกจะชอบเขามาก
                 ..............ฉันรู้สึกจะชอบเขา
                 ..............ฉันรู้สึกค่อนข้างจะจะชอบเขา
                 ..............ฉันรู้สึกเฉยๆ
                 ..............ฉันรู้สึกค่อนข้างไม่ชอบเขา
                 ..............ฉันรู้สึกไม่ชอบเขา
                 ..............ฉันรู้สึกไม่ชอบเขามาก
การถามลักษณะเช่นนี้อย่าให้ตรงเกินไปนักเพราะผู้ตอบอาจตอบไม่ตรง 
แต่ถ้าผู้ตอบสามารถตอบได้ตรงๆ คงไม่มีปัญหาอะไร        
            2. ความห่างทางสังคม แทนที่จะถามความรู้สึกเราอาจถามพฤติกรรม
ที่บุคคลหนึ่งจะเลือกกระทำกับอีกบุคคลหนึ่งเช่นจะร่วมกิจกรรมกับเขาหรือไม่
จะไปเที่ยวกับเขาหรือไม่ จะชวนเขาไปบ้านหรือไม่ พฤติกรรมเหล่านี้แสดงความห่างทางสังคมไม่เท่ากันเราอาจนำพฤติกรรมทางสังคมเหล่านี้ มาจัดเรียงเป็นมาตรความห่างทางสังคม
              3. สังคมมิติ เทคนิควัดความชอบพอและการยอมรับระหว่างกันที่ใช้กัน
แพร่หลายมากคือ สังคมมิติ ( Sociometry ) วิธีการทดสอบง่ายและตรงไปตรงมา
ผู้ทดสอบได้รับการทดสอบจัดอันดับเพื่อนที่ชอบมากที่สุด หรือผู้ร่วมงานที่อยาก
ทำงานร่วมกันมากที่สุดหรือผู้ร่วมงานที่ไม่อยากทำงานร่วมกันมากที่สุด2-3 อันดับ
ต่อจากนั้นก็นำข้อมูลการเลือกนี้ไปวิเคราะห์ว่าใครถูกเลือกมากที่สุด ใครถูกเลือก
น้อยที่สุดคู่ใดมีการเลือกระหว่างกันและบุคคลต่างๆในกลุ่มเกาะกลุ่มกันอย่างไร
ข้อมูลการเลือกนี้อาจนำมาแสดงในแผนภูมิสังคม 

        องค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์
มนุษยสัมพันธ์จะเกิดได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
       1. ต้องมีความเข้าใจตนเอง
       2. ต้องมีความเข้าใจบุคคลอื่น
       3. ต้องยอมรับความแตกต่างของบุคคลอื่น
       นอกจากนี้แล้วองค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง พฤติกรรม การจูงใจ ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม เจตคติ นิสัย ระบบสังคม  
สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยผสมผสานกันอย่างเหมาะสม เกิดเป็นพฤติกรรมที่น่าพึงพอใจ
แก่บุคคลอื่น ๆ ที่เรียกว่า “มนุษยสัมพันธ์
(ผศ.ดร.รัตติกรณ์ จงวิศาล.๒๔๔๑)

องค์ประกอบที่จะช่วยส่งเสริมให้บุคคลเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
             การที่จะเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ
ถึงองค์ประกอบที่จะช่วยส่งเสริมให้เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีดังต่อไปนี้
            1. พฤติกรรมของคน (Human Behavior) ในการอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเพื่อความสุขในการดำเนินชีวิตหรือเพื่อการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นในหน่วยงานเราทุกคนต้องเข้าใจพฤติกรรมของคน
            2. การจูงใจ (Motivation) เป็นแรงกระตุ้น   เป็นพลังให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่ออำนวยประโยชน์และสร้างความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน
            3. กลุ่มพวกในการปฏิบัติงาน (Team work) ตามรูปแบบของปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมนุษย์ที่ดำรงตนด้วยการเคารพนับถือซึ่งกันและกัน
หรือเคารพนับถือในความแตกต่างระหว่างบุคคล
            4. การมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction)ระหว่างบุคคลต่อบุคคล 
บุคคลต่อหน่วยงานหรือองค์การ มนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ แบ่งแยกกลุ่มไปตามลักษณะของความต้องการ มีการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน 


ภาพที่ ๒ มนุษยสัมพันธ์ ๑๐๑ : สิ่งที่ผู้นำทุกคนควรรู้
ที่มา (แม็กซ์เวลล์ จอห์น ซี, ๒๕๔๘)
            มนุษยสัมพันธ์จึงมีความสามัคคีในการสร้างให้มีความสามัคคีในหมู่คณะ ในที่นี้
อาจสรุปผลดีในการมีมนุษยสัมพันธ์และผลเสียในการไม่มีมนุษยสัมพันธ์ได้ดังนี้ คือ
            การมีมนุษยสัมพันธ์ก่อให้เกิดผลดี  พอสรุปได้ดังนี้
            1.เป็นประโยชน์ในการสื่อความคิด ติดต่อการประชาสัมพันธ์กับประชาชน 
เพื่อเรียกร้องความเห็นชอบกับชี้แจงให้รู้ถึงบริการต่าง ๆ ของหน่วยงานในองค์การ
            2. ทำให้มีความพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้นการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิด 
และวัตถุสิ่งของซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่ความพอใจในชีวิต รู้สึกว่าชีวิตไม่แห้งแล้ง
            3.ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันในการประกอบธุรกิจต่าง ๆ มนุษยสัมพันธ์
ช่วยส่งเสริมความเข้าใจในระหว่างสมาชิกของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจการงาน ความเข้าใจ
อันดีมีผลทำให้การประกอบธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมาชิกมีส่วนร่วม
ในการแสดงความคิดเห็นทำให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะจะช่วยลดอุบัติเหตุในการทำงานได้มนุษยสัมพันธ์จึงมีผลช่วยให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจในการประกอบธุรกิจการงาน
            4.ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นการมีมนุษยสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดี จะทำให้เกิด
ความสดชื่นและส่งผลมายังครอบครัวคือจะไม่มีอารมณ์เครียดมาระบายความหงุดหงิด
กับครอบครัวทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความสุขมีความพอใจที่ได้มีกิจกรรมและปฏิบัติงาน
            5.ทำให้เกิดการแบ่งหน้าที่รู้จักบทบาทและภารกิจในการประกอบการผลิต 
การจำหน่ายการกระจายบริหารงานออกไปโดยทั่วถึงกันมนุษยสัมพันธ์มีส่วนสำคัญ
ในการแบ่งเบาภาระหน้าที่รับผิดชอบ บนพื้นฐานของความเข้าใจ ไว้วางใจ
เป็นการแบ่งงานกันทำตามวิธีการบริหารงานแผนใหม่ อันเป็นผลช่วย
ทำให้การประกอบธุรกิจการงานร่วมกันสำเร็จลุล่วงตามที่กำหนดไว้อย่างได้ผล 
และมีความสมานฉันท์กันในหมู่คณะ        
ผลเสียของการที่บุคคลขาดมนุษยสัมพันธ์
บุคคลที่รวมกันอยู่ในสังคมมีหลายประเภทมีความแตกต่างกันและแตกต่างกันในความต้องการทางด้านจิตใจอารมณ์ ด้านสติปัญญา เพราะฉะนั้นหากสมาชิก
ของสังคมขาดมนุษยสัมพันธ์ คือ ไม่พยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่คิดถึงจิตใจ
ของจิตใจเรา และมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ สังคมนั้นก็จะไม่มีความเจริญก้าวหน้าและไม่มีความมั่นคง เพราะสมาชิกแต่ละคนของสังคมจะไม่ร่วมมือกันต่างฝ่ายต่างก็จะเอาชนะและชิงดีชิงเด่นกันและกันอันจะนำมาซึ่งการแตกแยกความสามัคคีในหมู่คณะสังคมใดขาดมนุษยสัมพันธ์ผู้คนจะเครียดหงุดหงิด สุขภาพจิตเสื่อม 
มีผลกระทบถึงสังคมมาก ฉะนั้นทุกคนควรจะสร้างมนุษยสัมพันธ์ให้บังเกิดขึ้น
ในหน่วยสังคมทุกหน่วยที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ เพราะเป็นวิธีการหนึ่งในการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สังคมโดยส่วนรวม
(อาจารย์ สุธาสินีย์.๒๕๔๐)

          
         

อ้างอิงจาก
ทิพ นิลนพคุณ.(2555).หลักของมนุษยสัมพันธ์(02/10/2555)[on-line].Available
    [on-line].Available : https://pirun.ku.ac.th
อาจารย์ สุธาสินีย์.(๒๕๔๐):๓๖-๑๔๙ ; องค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์และหลักการ25กันยายน2540
    [on-line].Available : https://ajsuthasinee.files.wordpress.com 
ผศ.ดร.รัตติกรณ์ จงวิศาล มนุษยสัมพันธ์ : พฤติกรรมมนุษย์ในองค์การ(๒๕๕๑)[on-line]
    [on-line].Available : http://kupress.ku.ac.th/newweb/index.php?option=com
แม็กซ์เวลล์, จอห์น ซี (๒๕๔๘) มนุษยสัมพันธ์ 101 : สิ่งที่ผู้นำทุกคนควรรู้
    [on-line].Available : http://www.book.rmutt.ac.th/?p=103140

ผู้จัดทำ
นางสาว บุษราภรณ์ ศรีคำ 5711011809049
คณะวิทยาการจัดการ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
สาขาวิชาเลขานุการทางการแพทย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ. ปวีณา สปิลเลอร์